เมื่อวันที่ 20 มกราคม 63 ที่ห้องประชุมดึง ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดเลย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธาน ได้ร่วมประชุมกับหัวหน้าส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับเชิญตัวแทนโรงงานน้ำตาล มาให้ข้อมูล หลังจากจังหวัดเลยได้เกิดวิกฤติเรื่องการเผาป่าและเผาอ้อย ทำให้หมอกควันปกคลุมทั้งเมือง ชาวบ้านจะผจญกับทั้งเศษฝุ่น หิมะดำ ลอยปลิวว่อนในอากาศ ล่วงตกตามพื้นถนน เกาะติดตามเสื้อผ้าที่ตากไว้ รวมทั้งการแก้ปัญหาสภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในจังหวัดเลย
หลังเสร็จสิ้นการประชุม นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ได้เผยว่า ในการประชุมวันนี้มี 2 ประเด็น ประเด็นแรกเรื่องภัยแล้ง เราได้ข้อสรุปการบริหารจัดการน้ำเป็น 2 ลักษณะ 1. การจัดการลักษณะน้ำไว้ใช้อุปโภค บริโภค เราได้คาดการณ์ไว้ว่า น้ำประปาในเมืองจะสามารถที่จะมีน้ำประปาใช้ประมาณ 12 เดือน ในกรณีที่ฝนไม่ตก ส่วนประปาตามอำเภอ ตำบลหมู่บ้าน ได้ให้หาแหล่งน้ำสำรอง สถานการณ์น้ำใต้ดินยังใช้การได้อยู่ และยังมีการตั้งศูนย์ที่เรียกว่า เคลื่อนที่เร็วเข้าไปดูชาวบ้านที่คาดว่าขาดแคลนน้ำ ในส่วนภาคการเกษตร ได้รับรายงานว่าชาวบ้านให้ความรวมมือในจังหวัดเลยไม่มีการทำนาปรัง และหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย สิ่งที่จะต้องดูแลและสำคัญคือน้ำในโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดเลย ต้องไม่ขาดแคลนน้ำไม่ได้
ส่วนในเรื่องของหมอกควัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเฝ้าระวัง ในเรื่องของ PM 2.5 ที่ส่วนใหญ่ปัญหาเกิดจาก การเผาอ้อย และเผาป่า ซึ่งทั้ง 2 ประเด็น ทางจังหวัดได้แต่งตั้งชุดเคลื่อนที่เร็ว เพื่อจะดับไฟให้ทันเพื่อไม่ให้ลุกลาม และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ไปสืบสวนทุกครั้งหาคนเผามาดำเนินคดีมาให้ได้ ในกรณีมีการเผาทั้งเผาป่าและเผาอ้อย แต่ที่สำคัญต้องสร้างแรงจูงใจเรื่องของโรงงานน้ำตาล เช่นทางโรงน้ำตาลได้ตั้งค่าหัว จับคนเผาไร่อ้อย โดยมีรางวัลให้รายละ 50,000 บาท หลังคดีสิ้นสุด และทางโรงน้ำตาลได้รับซื้ออ้อยสดมากขึ้น และซื้อใบอ้อยตันละ 1,000 บาท ทั้งหมดเป็นโรงงานน้ำตาลภูหลวง ได้ตั้งไว้และรับซื้ออ้อยเผาเพียง 30% ตามมติ ครม. ส่วนอีกโรงงานยังรับปากว่าจะดำเนินการ ส่วนการในเรื่องดำเนินการกฎหมายถ้ายังพบว่า มีการเผาอ้อย เผาป่า และทุกครั้งที่เกิดเพลิงไหม้ ต้องให้พนักงานสอบสวนสืบเสาะ และหาผู้กระทำผิด มือเผามาดำเนินคดีให้ถึงที่สุด รวมทั้งคาดโทษผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ในพื้นที่ที่ปล่อยให้มีการเผาในพื้นที่ของตนเอง