เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านบุ่ง หมู่ที่ 6 ต.นาแห้ว อ.นาแห้ว จ.เลย เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในหุบเขา มีภูเขารอบรอบ อากาศเย็นสบายตลอดปี ทุกปีช่วงหลังสงกรานต์มาจะมีประเพณี ชาวบ้านมีความเชื้อว่า การนำดอกไม้มาบูชาพระ เป็นการบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ ถือว่าเป็นสิ่งมงคลสูงสุด โดยเริ่มผู้ชายในหมู่บ้านไปหาไม้ไผ่และต้นกล้วย มาทำโครงเพื่อติดดอกไม้ ส่วนผู้หญิงจะไปหาดอกไม้สดตามหมู่บ้าน เพื่อนำมาประดับประดาไปถวายบูชาพระในวัด ซึ่งจากหลังสงกรานต์จะทำถวายอีก 3 ครั้ง ในวันพระใหญ่ และจะทำกิจกรรมร่วมกันทั้งหมู่บ้าน แห่เข้าวัดอย่างสนุกสนาน ตามประเพณีที่ปฎิบัติกันมากว่า 470 ปี แต่ปีนี้เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ให้ต้องงดจัดร่วมประเพณี แต่มีบางบ้านยังคงสืบสานตามประเพณีแต่ทำขนาดเล็กลงภายในครอบครัว แล้วนำไปถวายวัดอย่างเงียบๆ เพื่อคงประเพณีนี้ไว้
นายไพรัตน์ เชื้อบุญมี ผู้ใหญ่บ้านบุ่ง เผยว่า ในทุกปีหลังช่วงสงกรานต์ ชาวอำเภอนาแห้ว จะมีพีธีการแห่ต้นดอกไม้ของชาวบ้าน และจะมีการแห่อีกในวันพระ ตลอด 3 ศีลใหญ่ หรือวันพระใหญ่ โดยเฉพาะบ้านแสงพา ชาวบ้านก็จะนำต้นดอกไม้ที่มีต้นขนาดใหญ่ มีคนหามบางต้นกว่า 18-20 คน จนได้ชื่อว่าเป็นต้นดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก พิธีจะเริ่มแห่กันในช่วงกลางคืน ตั้งแต่ 1 ทุ่ม-3 ทุ่ม แห่รอบพระอุโบสถให้ครบ 3 รอบ รอบที่ 1 แห่เพื่อบูชาพระพุทธ รอบที่ 2 แห่เพื่อบูชาพระธรรม และรอบที่ 3 แห่เพื่อบูชาพระสงฆ์
ต่อจากนั้นต้องวางต้นดอกไม้ทุกต้นไว้รอบพระอุโบสถ โดยผู้ที่ทำหน้าที่หามต้นดอกไม้ที่มีขนาดสูงใหญ่ จะต้องมีลีลาในการแบก ด้วยการโยกตัวให้ต้นดอกไม้หมุนซ้ายหมุนขวา ตามจังหวะเสียงกลอง ฆ้อง ฉิ่งฉาบที่บรรเลงประกอบจนครบ 3 รอบ และภายในต้นดอกไม้จะติดเทียนไข เพื่อเป็นการจุดไฟให้เกิดแสงสว่างในการทำพิธี เพื่อบูชาพระรัตนตรัยตลอดทั้งคืน รุ่งเช้าชาวบ้านจะช่วยกันนำต้นดอกไม้ออกจากวัด
และทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมจำนวนมาก แต่มาปีนี้ได้เกิดโรคระบาด เชื้อไวรัสโควิด-19 จึงได้งดจัดงานทั้งอำเภอ แต่มีหมู่บ้านในอำเภอนาแห้ว ยังคงสืบสานประเพณี การแห่ต้นไม้เพื่อบูชาพระ ที่บรรพบุรุษทำต่อเนื่องกันมากว่า 470 ปี โดยจะทำต้นเล็กๆ 4 คนแบกกันในครอบครัว ต่างคนต่างทำ ไม่มีการฆ้อง ฉิ่งฉาบที่บรรเลง ทำเสร็จหามเข้าวัดแบบเงียบๆ ทำแบบเรียบง่ายในครอบครัวเป็นอันว่าเสร็จพิธี นายไพรัตน์ เชื้อบุญมี ผู้ใหญ่บ้านบุ่ง กล่าว