เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ได้รับแจ้งจาก นายชุมพล กุนเสน ผู้ใหญ่บ้านวังมน ตำบลภูหอ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย ในช่วงเช้ามืดได้มีช้างป่าเข้ามาในเขตหมู่บ้าน ได้พังผนัง หน้าต่าง ชาวบ้านได้รับความเสียหาย จึงได้นำเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบที่เกิดเหตุ
พบบ้านเลขที่ 50 บ้านวังมน ตำบลภูหอ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย เป็นบ้านของยายคำพัน น้อยดี อายุ 69 ปี ได้เล่าว่า ตนได้นอนหลับอยู่ในบ้าน อาศัยอยู่กับสามีชื่อตาวิรัตน์ น้อยดี อายุ 72 ปี พิการขาข้างขวาขาด ช่วงก่อนเกิดเหตุตนได้หลับๆตื่นๆ พอช่วงเวลาช่วงประมาณ 02.40 น. ตนได้ยินเสียงช้างป่าเดินมาบริเวณหน้าบ้าน ตนตกใจอย่างมาก สักพักช้างได้เอาหัวชนผนังบ้านเป็นปูนสั่นสะเทือนทั้งบ้าน ร้าวไปทั้งแถบ หน้าต่างเป็นรูโหว่ ตนตกใจอย่างมาก จึงได้วิ่งออกมานอกบ้าน ทิ้งสามีขาพิการ วิ่งไปบ้านผู้ใหญ่บ้านที่อยู่ติดกัน ร้องให้ชาวบ้านออกมาช่วย ผู้ใหญ่บ้านออกมาเคาะไม้ เพื่อขับไล่ช้าง ต่อมาชาวบ้านได้ยินได้ช่วยกันเคาะไม้ และมีเวรยามที่ชาวบ้านจัดชุดระวังช้างกว่า 10 คนมาช่วยไล่ช้าง ช้างเห็นคนเยอะและมีเสียงเคาะไม้ดังตลอดจึงได้รีบวิ่งข้ามถนนออกไป และเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
ด้านนายชุมพล กุนเสน ผู้ใหญ่บ้านวังมน เผยอีกว่า ช้างที่เห็นเมื่อเช้ามืดมา 1 ตัว เป็นช้างหนุ่ม ช้างตัวนี้เคยมาที่บริเวณหมู่บ้านมาครั้งหนึ่งแล้ว และมาหยุดกินมะม่วง หน้าบ้านหลังดังกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ครั้งนี้ช้างหนุ่มตัวนี้วกกลับมาที่หมู่บ้านนี้อีก และคาดว่าได้กลิ่นข้าวเปลือก ที่อยู่ในบ้านซึ่งลูกชายเจ้าของบ้านพึ่งเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกมา แล้วนำมาให้พ่อและแม่ เมื่อวานตอนเย็น ตกดึกช้างคงได้กลิ่นข้าวใหม่ จึงใช้หัวชนพังผนังหวังจะเข้าไปกินข้าวเปลือก แต่เจ้าของบ้านร้องให้ช่วยเหลือชาวบ้านและเวรยามได้ออกผลักดันช้างเข้าป่าไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในหมู่บ้านวังมน ตำบลภูหอ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ได้มีช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง เข้ามาขยายเขตหากิน ขณะนี้ช้างป่ายังวนเวียนรอบใกล้ๆหมู่บ้านประมาณ 50 ตัว เจ้าหน้าที่และชาวบ้านเคยผลักดันไปเข้าไปหลายครั้งแต่ก็ยังวนเวียนกลับมาที่เดิม ซึ่งมีหลายสาเหตุ ช้างป่าภูหลวงได้ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งช้างหนุ่มได้แยกตัวออกจากโขลงเพื่อสร้างโขลงใหม่ จึงพยายามหาแหล่งสร้างอาณาเขตที่ทำมากินใหม่ พอมาได้ลิ้มรสชาติอาหารที่เกษตรกรปลูกไว้ จึงติดรสชาติอาหาร เป็นอีกสาเหตุที่ไม่ยอมกลับไปที่ป่า