ข่าวทั่วไป

จังหวัดเลย ผู้ป่วยไข้เลือดออกพุ่งเกือบ 300 ราย ชิคุนกุนยา พบผู้ป่วยแล้ว 90 ราย

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 ที่ห้องประชุมศาลากลางชั้น 5 จังหวัดเลย ได้มีการประชุมคณะกรรมการการป้องกันโรคติดต่อจังหวัดเลย หลังจากการประชุม นายปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย ได้แถลงข่าว เผยถึงสถานการณ์ระบาดโรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยาหรือโรคปวดข้อจากยุงลาย พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้เลือดออกพุ่งสูงขึ้นในช่วงฤดูฝน และโรคชิคุนกุนยา มีการระบาดเกือบทุกอำเภอ พร้อมแนะกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ไม่ให้ยุงกัด ป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ซิกา โรคชิคุนกุนยาหรือโรคปวดข้อ แนะช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุก 7 วัน หรือ ทุกวันศุกร์พร้อมกันทั้งจังหวัด คาดใน 2-3 เดือน ข้างหน้าจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

นายปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย เผยว่า จากรายงานของงานระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 8 มิถุนายน 2563 โดยเฉพาะโรคชิคุนกุนยาหรือโรคปวดข้อ ในช่วงเดือนมิถุนายน มีการสะสมผู้ป่วยที่อยู้โรงพยาบาลมีทั้งหมด 90 ราย ซึ่งถือว่าเป็นอัตราส่วนที่เพิ่มมากขึ้นกว่าในระยะที่ผ่านมา  โดยส่วนใหญ่ระบาดที่อำเภอท่าลี่ เชียงคาน และวังสะพุง โดยเฉพาะอำเภอท่าลี่ ต.อาฮี มีผู้ติดเชื้อทุกหมู่บ้านและ มีอัตราการป่วยควบคู่ไปกับไข้เลือดออก ซึ่งทั้ง 2 โรคยุงลายเป็นตัวพาหะ หากพบอาการมีไข้สูงร่วมกับมีผื่นแดงขึ้นตามตัว และมีอาการที่แทรกซ้อนคือจะปวดข้อ บางรายไม่สามารถเดินเหินได้สะดวก หากพบคนไข้ลักษณะแบบนี้ ผู้ป่วยติดเชื้อโรคชิคุนกุนยาหรือโรคปวดข้อ

ส่วนไข้เลือดออกของจังหวัดเลย ถ้าเปรียบเทียมผู้ป่วยในภาคอีสาน เราอยู่ในระดับ 6 ถ้าเปรียบเทียมประวัติจังหวัดเลยมียอดผู้ป่วยสูงกว่า 5 ปีย้อนหลัง เป็นตัวบ่งว่าถ้าไม่จัดการอะไรเลย อีก 2-3 ข้างหน้าน่าจะมีการระบาดหนัก และจะกลายเป็นภาระงานหนักกว่าโควิด 19 ขณะนี้ทางสสจ.ได้เตรียมแผนป้องกันไว้แล้ว ปัจจุบันพบผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวน 276 ราย พบมากที่สุดที่อำเภอหนองหิน 70 คน รองลงมาคือ อำเภอภูกระดึง 52 สำหรับผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาหรือโรคปวดข้อ หลังจากเข้าฤดูฝน พบผู้ป่วย 90 ราย อำเภอที่พบมากที่สุดคืออำเภอท่าลี่ 68 ราย รองลงมาคืออำเภอวังสะพุง 15 ราย

ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนป้องกันไม่ให้ยุงกัดโดยการนอนกางมุ้ง สวมเสื้อผ้ามิดชิด ทายากันยุง รวมทั้งกำจัดยุงลายตัวแก่ เช่น การฉีดพ่นสารเคมี ใช้สเปรย์ฆ่ายุง จุดยากันยุง หรืออุปกรณ์   กำจัดยุง ฯลฯ ร่วมกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย  ภายในและบริเวณบ้านทุก 7 วัน หรือทุกวันศุกร์ รวมทั้งขอให้เกษตกรที่ปลูกยางพารา ถ้วยรองรับน้ำยาง หากหยุดกรีดยาง ขอความร่วมมือคว่ำถ้วยลง เพราะหากไม่คว่ำถ้วยกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอย่างดี

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย ยังกล่าวย้ำอีกว่า หากมีคนเจ็บป่วยในบ้าน โดยเฉพาะมีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน พบจุดเลือดออกตามตัวต้องรีบไปตรวจยังสถานบริการสาธารณสุขทันที โดยเฉพาะหญิงที่ตั้งครรภ์ต้องไปตรวจตามนัดทุกครั้ง เมื่อไม่สบายต้องรับการรักษาจากแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ห้ามซื้อยามารับประทานเองโดยเด็ดขาด

แสดงความคิดเห็น - Facebook