ข่าวทั่วไป

โครงการอาหารช้างภูหลวง ร่วมกันทำโป่งเทียมให้ช้าง ปลูกพืชดึงดูด ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องวันเฉลิมพระชนมพรรษา

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2563 ที่ทุ่งหญ้าห้วยหินลับ ต.เลยวังไสย์ อ.ภูหลวง จ.เลย นายจิรชัย อาคะจักร หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง นายวัชระ ธรรมสอน หัวหน้าโครงการฟื้นฟูอาหารช้างภูหลวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ร่วมกับกลุ่มอาสาเฝ้าระวังช้างภูหลวง เครือข่ายชมรมคนรักษ์ป่าภูหลวง และกลุ่มออฟโรดจังหวัดเลย ร่วมกันทำกิจกรรมเติมโป่งให้ช้างป่า และปลูกพืชดึงดูด อันเนื่องจากวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปี โดยมีนายปิยะชาย ศรีบุรินทร์ นายอำเภอภูหลวง เป็นประธาน

นายจิรชัย อาคะจักร หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง เผยว่า ปัจจุบันช้างป่าที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง มีช้างอาศัยอยู่ 186 ตัว และแยกโขลงเป็น 11 โขลง ซึ่งพื้นที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ยังรองรับช้างได้อยู่ ซึ่งผลจากการวิจัยสามารถรองรับช้างได้ถึง 250 ตัว จากปัญหาที่ได้พบเนื่องจากช้างป่าได้เพิ่มปริมาณมากขึ้น และมีช้างหนุ่มได้แยกตัวออกจากโขลง เพื่อตั้งโขลงตัวเองใหม่ จึงได้สร้างอาณาเขตโขลงตนเองใหม่ขึ้น และออกหาแหล่งอาหารแห่งใหม่ จึงมีบางโขลงที่ออกมาหากินนอกเขตป่า เข้าเขตที่ทำมาหากินของชาวบ้าน ได้กินพืช ไร่ ของชาวบ้านที่ปลูกไว้ เมื่อเข้ามาหากินได้เกิดติดรสชาติอาหารพืชพรรณของชาวบ้านที่ปลูกไว้  จึงได้มาอาศัยตั้งโขลงใกล้ๆกับชุมชนไม่ยอมกลับเข้าป่า ทำให้ช้างต้องถูกขับไล่ด้วยวิธีการต่างๆ บางครั้งเกิดการกระทบกระทั่งกันจนเกิดการสูญชีวิตของทั้งสองฝ่าย

จากปัญหานี้พยายามแก้ไขมาหลายปีในตอนนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ จึงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการศูนย์อาหารช้างป่าขึ้น ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง แต่ด้วยข้อจำกัดของจำนวนของเจ้าหน้าที่ต้องดูแลพื้นที่กว้างใหญ่ ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มแหล่งอาหารเสริม ทางธรรมชาติ ให้แก่ช้างอย่างเพียงพอ และทุกปีจึงมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันนำเกลือสมุทรทำโป่งเทียมให้ช้าง สำหรับในปีนี้ได้ทำโป่งเทียมจำนวน 15 โป่ง ใช้เกลือ 1.5 ตัน และได้ร่วมกันปลูกพืชชนิดต่างๆที่ช้างชอบกินให้มากขึ้น เพื่อดึงดูดช้างป่ากลับเข้าอยู่ในป่า

โดยนำเกลือโรยตามรอยโป่งช้างเก่า บนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ซึ่งครั้งนี้ นอกจากเป็นการสร้างแหล่งอาหารเสริมให้กับช้างป่าแล้ว ยังเป็นการปลูกจิตสำนึกต่อประชาชนที่อาศัยอยู่รอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ให้อยู่ร่วมกับช้างอย่างมีสันติสุขด้วย สำหรับโป่งช้างนั้น เป็นแหล่งอาหารเสริม ตามธรรมชาติของช้างและสัตว์ป่า ในส่วนของการทำโป่งเทียมนั้นจะเป็นการนำเกลือไปผสมกับดินธรรมชาติที่เป็นแหล่งอาหารเดิมของช้างและสัตว์ป่า บนภูเขา โดยโป่งเทียมจะช่วยเสริมแร่ธาตุตามธรรมชาติที่ช้างขาดหายไป เกลือจะมีโซเดียมคลอไรค์ ช่วยเสริมสร้างกระดูกฟันเล็บเท้าของสัตว์ป่า

แสดงความคิดเห็น - Facebook