ข่าวบ้านเมือง

ฝรั่งทึ่ง!หลังโควิดคลี่คลาย คนไทยในอิตาลีจัดโชว์นิทรรศการ สถาปัตยกรรมไทย และพร้อมหนุนผ้าฝ้ายเมืองเลยสู่ตลาดโลก

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เมืองเวนิส แคว้นเวเนโต้ ประเทศอิตาลี คุณปุ๊ก กอรับเฮือง รองประธานสภาวัฒนธรรมไทยในสาธารณรัฐอิตาลี แห่งเมืองเวนิส รวมทั้งคนไทยในอิตาลี ได้ร่วมกันจัดงานและได้มีพิธีเปิดงาน นิทรรศการ “Line & Rhythm จังหวะและลีลาในงานสถาปัตยกรรมไทย”  โดยได้เอาผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมของอาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) พ.ศ. 2546 จัดอวดให้โลกได้รู้จัก พร้อมกับจัดแนะนำอาหารไทย ในงานไทยเดย์อินเวนิส ปี 2563

โดยมีคุณ Emanuele De Reggi กรรมาธิการสงขลาพาวิเลียน และในนามตัวแทนของศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิด พร้อมกับคุณ Andrea Marcon กงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ณ เมืองเวนิส พร้อมภริยา และศาสตรจารย์ ดร. Edoardo Siani อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมไทย มหาวิทยาลัยคาฟอสคารี่ และภริยา ให้เกียรติเดินทางมาร่วมพิธีเปิด

คุณปุ๊ก กอรับเฮือง รองประธานสภาวัฒนธรรมไทยในสาธารณรัฐอิตาลี เผยว่า ปกติสภาวัฒนธรรมไทยในอิตาลี ทุกปีโดยการสนับสนุนกระทรวงวัฒนธรรม สงขลาพาวิเลียน และมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ร่วมกันจัดงานจังหวะและลีลาในงานสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งจะมีผลงานนักออกแบบสถาปัตยกรรม ของเมืองไทยออกมาแสดงให้คนต่างชาติได้ดู สำหรับปีนี้หลังจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส โควิด -19 ได้แพร่ระบาด ในขณะนี้ในประเทศอิตาลี ได้คลี่คลายลง ทางเมืองเวนิส จึงอนุญาตให้มีการจัดนิทรรศการขึ้น

โดยปีนี้เราได้เอาผลงานของอาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม ซึ่งได้จัดห้องนิทรรศการแบ่งออกเป็น 5 ห้อง และได้รับความสนใจจากต่างชาติที่เข้ามาดูเป็นอย่างมาก กับสถาปัตยกรรมการออกแบบ อย่าง พระพุทธปรางค์ วัดอรุณราชวราราม รวมทั้งพระมหาธาตุเจดีย์มงคลสิทธาจารย์ ซึ่งล้วนเป็นการออกแบบของอาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร

และทางสภาวัฒนธรรมไทยในสาธารณรัฐอิตาลี แห่งเมืองเวนิส ยังได้จัดงานไทยเดย์อินเวนิส นิทรรศการอาหารไทย แนะนำให้คนต่างชาติได้ลิ้มลอง อย่างเช่นแกงเขียวหวาน น้ำตะไคร์ การทำขนนดอกจอก ที่กลายเป็นขนมที่ชื่นชอบของฝรั่ง ในส่วนของงานสภาวัฒนธรรมไทยสาธารณรัฐอิตาลี ซึ่งปีนี้ทางสภาได้มุ่งมั่นที่จะนำผ้าไทยโดยเฉพาะผ้าฝ้ายทอธรรมชาติจากจังหวัดเลย  มาแนะนำให้คนยุโรปให้เป็นที่รู้จัก และหันมานิยมผ้าฝ้ายของไทย จึงจะจัดงานขึ้นอีกครั้งในเดือนตุลาคมที่จะถึง

ทั้งนี้เพื่อที่จะร่วมอนุรักษ์สืบสาน และจะสร้างสรรค์แฟชั่นเครื่องแต่งกายจากผ้าไทยให้เข้าถึงไลฟ์สไตล์ของคนยุโรป โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้งานศิลปหัตถกรรม ประเภทแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย ผสมผสานองค์ความรู้ และภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทย เข้ากับทักษะการออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย ผ้าไทยในรูปแบบหัตถกรรมร่วมสมัยให้สอดรับกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน และนําไปสู่การเชื่อมโยงผลงานสู่ภาคอุตสาหกรรม แฟชั่น ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ตลอดจนช่วยเพิ่มมูลค่าและคุณค่างานผ้าไทยเป็นที่รู้จักกับคนทั้งโลก

แสดงความคิดเห็น - Facebook