เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านบุ่ง หมู่ที่ 2 ต.นาแห้ว อ.นาแห้ว จ.เลย นำโดยนายไพรัตน์ เชื้อบุญมี ผู้ใหญ่บ้านบุ่ง และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านบุ่งภูค้อ ได้ร่วมกับชาวบ้านในหมู่บ้านและตำบลใกล้เคียง ได้จัดกิจกรรมฟื้นฟูประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว (เอาเสี่ยวเกี่ยวข้าวเที่ยวภูค้อ ปีที่ 3 ) โดยมี นายอาคม ภูละคร ปลัดอาวุโส รักษาการนายอำเภอนาแห้ว พัฒนาการอำเภอนาแห้ว ได้นำข้าราชการรวมทั้งพี่น้องชาวบ้าน ต่างหมู่บ้าน ต่างตำบลร่วมเกี่ยวข้าวผูกเสี่ยว ที่จุดชมวิวบนภูค้อ ทามกลางบรรยากาศสายหมอกและแสงแดด
นายไพรัตน์ เชื้อบุญมี เผยว่า ประเพณีผูกเสี่ยวลงแขกเกี่ยวข้าวเที่ยวภูค้อ จึงได้จัดเป็นปีที่ 3 ทั้งนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีทั้งลงแขกเกี่ยวข้าว และประเพณีผูกเสี่ยว เป็นประเพณีเก่าแก่และสำคัญของชาวอีสาน โดยพ่อแม่จะนำลูกหลานที่รักกันมาผูกแขนป็นเพื่อนกัน คำว่า “เสี่ยว” ในภาษาอีสานมีความหมายว่า “เพื่อนรัก หรือ เพื่อนตาย” ประดุจมีชีวิตเดียวกัน จึงต้องมีความซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน มีความผูกพันกันด้านจิตใจอย่างจริงจังและเต็มใจ ไม่มีสิ่งใดจะมาพรากจากกันได้แม้แต่ความตาย
อีกทั้งเป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีในชุมชน ความมีน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริม จากการท่องเที่ยว โดยได้จัดกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าว ที่จุดชมวิว ณ.จุดวิสาหกิจชุมชนบ้านบุ่งค้อ นายไพรัตน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นประเพณีไทย ซึ่งคนอีสานเรียกว่า “ลงแขก” รวมการผูกเสี่ยว เป็นวัฒนธรรมประเพณีแห่งการเกื้อกูลกันและกันของชุมชนคนในอดีต ที่นับวันจะสูญหายจากสังคมไทย เพราะระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ใช้เงินเป็นตัวกำหนด คำว่า “ลงแขก” ของคนอีสานมีความหมายถึง การน้ำใจไมตรีที่ผู้คนในชุมชนมอบให้กัน ช่วยเหลือกันในกิจการงานต่างๆให้สำเร็จลุล่วงโดยความร่วมมือร่วมใจกันทำ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนกันใดๆของคนในชุมชนเดียวกัน ชุมชนบ้านบุ่ง อ.นาแห้วจึงได้อนุรักษ์และปฎิบัติมาตลอดในชุมชน เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว เป็นน้ำหนึ่งร่วมใจกันมาตลอด