เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงพยาบาลเลย มีน.ส.อัญญ์ฎานันท์ ไพศูนย์ อายุ 36 ปี พร้อมกับทนายความ และญาติ เข้าพบกับ นายแพทย์บัญชา ผลานุวงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลย จากกรณี นางหนูคิด ไพศูนย์ อายุ 54 ปี ต.ธาตุ อ.เชียงคาน จ.เลย ได้ประสบอุบัติเหตุ ถูกรถยนต์ชนขณะขับรถจักรยานยนต์ เหตุเกิดวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ได้รับบาดเจ็บ เลือดออกในสมอง เพราะศีรษะกระแทกพื้นอย่างแรง ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเลย และได้ทำการรักษา หมอให้กับบ้านขณะอาการยังไม่ดีขึ้นกลับบ้านไม่ถึง 10 นาที ผู้ป่วยช็อกและเสียชีวิต
น.ส.อัญญ์ฎานันท์ ไพศูนย์ ได้เล่าว่า คนป่วยเป็นแม่ของตนเอง มารักษาตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย.และในวันที่ 9 หมอให้กับบ้านในขณะแม่ยังมีอาการปวดศรีษะและมึนงงอยู่ อีกทั้งยายผู้ดูแลแม่ก็บอกว่ายังไม่อยากกลับบ้าน ขอให้แพทย์รอดูอาการอีกระยะก่อน แต่ทางแพทย์ก็ยืนยันว่า อาการบาดเจ็บดีขึ้นแล้ว กลับไปพักฟื้นที่บ้านอีกประมาณ 1 เดือนก็หายเป็นปกติ หลังจากนั้นก็พาแม่กลับบ้าน เมื่อมาถึงได้ 10 นาที แม่ก็เกิดอาการช็อกหมดสติ ตนและญาติได้พากันส่งตัวไปที่โรงพยาบาลเชียงคาน พยาบาลก็ช่วยกันปั๊มหัวใจ อาการยังไม่ดีขึ้น จึงรีบนำส่งต่อไปที่โรงพยาบาลเลย และเสียชีวิตในที่สุด
ตนและญาติทุกคน ติดใจในสาเหตุการตาย จึงขอให้โรงพยาบาลเลยส่งศพไปผ่าพิสูจน์ที่โรงพยาบาลศรีนครรินทร์ จ.ขอนแก่น ผลการผ่า แพทย์ระบุสาเหตุการตายว่า เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง สมองช้ำบวม ซึ่งตนมาทราบจากแพทย์ว่า โรงพยาบาลเลยไม่มีแพทย์เฉพาะทางด้านสมอง การรักษาต้องคอยปรึกษาถามจากแพทย์ที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีตลอด การที่แม่เสียชีวิต ถือเป็นความผิดพลาดของแพทย์ ไม่มีการตรวจซ้ำก่อนให้แม่ออกจากโรงพยาบาล ทั้งที่แม่ยังมีอาการปวดหัว เดินไม่ได้ ขออยู่ต่อแต่หมอให้กลับบ้าน ในเรื่องนี้ตนขอต่อสู้จนถึงที่สุด ข้องใจทำไม รพ.ไม่มีหมอเฉพาะทางแต่ยังรักษาอยู่
ด้านนายแพทย์บัญชา ผลานุวงษ์ ผ.อ.โรงพยาบาลเลย กล่าวว่า หลังจากโรงพยาบาลเลยรับนางหนูคิดเข้ามารักษาอาการบาดเจ็บ มีการทำซีทีสแกนพบว่าเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง ทางแพทย์เจ้าของไข้ ก็ได้ติดต่อประสานงานสอบถามแนวทางการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ว่าอาการเช่นนี้จะส่งตัวต่อที่อุดรฯหรือไม่ ซึ่งทางแพทย์ผู้เชี่ยชาญก็บอกว่า ให้รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลเลยตามคำแนะนำและสังเกตุอาการอย่างใกล้ชิด กำหนดไว้ 6 วัน
ซึ่งก่อนอนุญาตให้คนไข้กลับบ้าน แพทย์ก็ได้เข้าไปตรวจดูอาการ คนไข้มีการตอบรับที่ดี มีการพยักหน้า และพูดคำว่าขอกลับบ้าน แต่ทางญาติอาจมีการเข้าใจผิดในการสื่อสารอย่างไรก็ตาม ต้องรอข้อมูลจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจวิเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความกระจ่างและให้แพทย์ พยาบาลโรงพยาบาลเลยได้เรียนรู้ด้วย จะได้กลับมาป้องกัน ไม่ให้เกิดเหตุลักษณะนี้กับผู้ป่วยรายอื่น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนได้ตั้งคณะกรรมการไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ขวัญกำลังใจของแพทย์และพยาบาล เจ้าหน้าที่ทุกคนก็ต้องคำถึงนึงด้วย แต่หาพบว่ามีความผิด หรือบกพร่องจริงก็ต้องลงโทษตามระเบียบกฎหมายต่อไป