เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ตลาดนัดโค – กระบือ หมู่ที่ 2 ตำบลนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ดร.สุวัฒน์ มัตราช ปศุสัตว์จังหวัดเลย ได้จัดกิจกรรมทำพิธีเปิด Kick Off ป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกิน ซึ่งกำลังแพร่ระบาดในโค-กระบือ ใน 14 อำเภอ ของจังหวัดเลย โดยมีนายโสภณ สุวรรณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดในพีธี พร้อมกับสร้างความมั่นใจทำอาหารจากเนื้อโค-กระบือ ปรุงสุก รับประทานได้ เชื้อไวรัสลัมปี สกิน ไม่สามารถติดเชื้อมาสู่คนได้ โดยได้กุ๊กกิตติมศักดิ์ นายบรรพต ยาฟอง อดีตปลัดจังหวัดอุดรธานี เป็นผู้ปรุงอาหาร
ดร.สุวัฒน์ มัตราช ปศุสัตว์จังหวัดเลย กล่าวว่า จังหวัดเลยได้พบสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ เกษตรกรในพื้นที่ 14 อำเภอ ซึ่งมีรายงานการระบาดครั้งแรกในพื้นที่อำเภอท่าลี่ ภูหลวง เชียงคาน และอำเภอเอราวัณ จึงทำให้เกษตรกร มีความวิตกกังวลต่อการระบาดของโรคดังกล่าวนี้เป็นอันมาก สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเลย จึงได้เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ออกประกาศจังหวัดเลย กำหนดเขตโรคระบาดชนิดโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ ในทุกพื้นที่ของจังหวัดเลย
โดยพบสัตว์ป่วย รวม187 ตัว มีเกษตรกร ได้รับผลกระทบ 80 ราย ขณะทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเลย ได้ทำการประชาสัมพันธ์ออกให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายของกรมปศุสัตว์โดยได้ออกฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ ตามคอกเลี้ยงโค-กระบือ และดูแลรักษา ให้กับเกษตรกรโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในจังหวัดเลย เพื่อให้การสนับสนุนงบประมาณและเวชภัณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยา บรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกรที่เลี้ยงโค – กระบือ ในพื้นที่จังหวัดเลย
ด้านนายโสภณ สุวรรณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวอีกว่า เนื่องจากว่าโรคลัมปี สกิน เป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย จึงได้จัดงานเปิด Kick Off ป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกิน ซึ่งเกษตรกรยังขาดองค์ความรู้ ทั้งนี้การจัดขึ้นเพื่อได้สร้างองค์ความรู้และประชาสัมพันธ์ตามนโยบายของรัฐบาล และเพื่อเป็นการป้องกัน และได้ออกรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ออกไปพ่นยาฆ่าเชื้อ และฆ่าแมลงที่เป็นพาหนะ ตามคอกและสถานที่เกษตรกรนำโค กระบือไปเลี้ยง
ในส่วนการนำเนื้อโค กระบือ มารับประทาน สัตว์ที่เป็นโรคและเสียชีวิตห้ามนำมารับประทานเด็ดขาด เนื่องจากโรคลัมปี สกิน เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสและรักษาหายได้ สำหรับสัตว์ที่รักษาหายแล้ว จึงเป็นโค กระบือ ปกติฉะนั้นสามารถนำมาจำหน่าย และเอาเนื้อมาบริโภคได้ แต่ขณะที่โคกระบือ ตายในระหว่างเป็นโรคไม่ควรนำเนื้อมารับประทาน ส่วนสัตว์ที่หายแล้วก็นำเนื้อมาประกอบอาหารได้ตามปกติ แต่ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน ซึ่งวันนี้ทางปศุสัตว์จังหวัดเลย ภายในงานก็มีการสาธิตการปรุงเนื้อสัตว์โคกระบือ ปรุงสุก มารับประทานได้ไม่มีอันตรายใดๆ