เมื่อวันที่ 29 มกราคม 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จ.เลย ได้ออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง มักจะเข้าทำลายพืชไร่ ที่ปลูกไว้ในไร่ในสวนของชาวบ้าน และยังรุกเข้าทำลายข้าวของในหมู่บ้าน เคียงนา ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต่างได้รับความเดือดร้อน แม้ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ รวมกับชุมชน ได้ช่วยกันผลักดันช้างป่า เข้าไปหากินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง แต่ทุกปีเมื่อถึงเวลาเพาะปลูกช้างก็กลับมาบุกรุก สร้างความเสียหาย และหวาดผวาให้กับชาวบ้าน
และวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมาได้มีชาวบ้านบางส่วน ลักลอบทำกับดักตะปู โดยกับดักทำด้วยไม้กลมๆ ลักษณะคล้ายเขียง จากนั้น จะใช้ตะปู 3 และตะปู 5 ตอกทะลุไม้ เวลาจะวางหงายขึ้น เพื่อให้ช้างมาเหยียบ และบาดเจ็บ และกันช้างจะเข้ามาทำลายพืช ต้นไม้ ที่ตนเองปลูกไว้ ซึ่งขณะเจ้าหน้าที่ได้เข้าแจ้งความเพื่อดำเนินชาวบ้านที่ได้กระทำการดังกล่าว
โดยล่าสุด ที่ศาลากลางหมู่บ้านวังมน ตำบลภูหอ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่พบปะชาวบ้านที่เดือดร้อน เพื่อมารับฟังปัญหา และหาข้อแก้ไขรวมทั้งสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน ซึ่งปัญหาของช้างป่า ออกมาจากเขตป่าลงมายึดที่ทำกินของชาวบ้าน ที่เป็นปัญหามานานยืดเยื้อกว่า 5 ปี
นายชัยธวัช เนียมศิริ เผยว่า ในวันนี้ ต้องการรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าบนภูหลวง ที่ลงมาบุกรุกสร้างความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภอภูหลวง ด้วยการทำลายพืชผลทางการเกษตร ทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน และทำร้ายชาวบ้าน จนได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต และยังมีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบมากขึ้นทุกวัน จึงได้หารือร่วมกัน ระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาโดยให้ช้างป่ากลับขึ้นไปอยู่บนภูเขาที่เดิมได้อย่างไร
ซึ่งข้อสรุปในเบื้องต้นที่จะดำเนินการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแบ่งออกเป็น มี 3 ระยะ คือ ระยะแรกใช้วิธีต้อนช้างขึ้นไปทางเดิม และ ทำรั้วป้องกัน ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร และยังต้องใช้งบประมาณจำนวนมากด้วย ส่วนระยะกลาง ต้องเพิ่มเติมแหล่งอาหาร แหล่งน้ำบนภูเขาให้กับช้างป่า และระยะสั้น ถ้าหากยังมีช้างป่า ลงมาทำลายพืชผลทางการเกษตรหรือชาวบ้านถูกทำร้าย และได้รับบาดเจ็บจนถึงเสียชีวิต ทางหน่วยงานรัฐจะเข้ามาดูแลเยียวยาอย่างเต็มที่เช่นกัน
และจากการประชุมในเบื้องต้น เพื่อลดแรงดึงดูดช้างป่า และการเรียนรู้ปรับจากพฤติกรรมช้างป่า จากความคิดเห็นในที่ประชุม มีการนำเสนอการปรับอาชีพจากการทำเกษตร มาเป็นปศุสัตว์ โดยการเลี้ยง แพะ วัว ควาย ช้างไม่ชอบกลิ่นสาปของสัตว์พวกนี้ พร้อมทั้งการเพิ่มความปลอดภัยในชุมชน โดยการเพิ่มแสงสว่างตามจุดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงจากช้างป่า และเส้นทางสัญจรในหมู่บ้าน
ส่วนนายไพบูลย์ ปิสาทุม ทีมอาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่าภูหลวง เปิดเผยว่า เนื่องจากช้างมีนิสัยที่ดื้อ และไม่ชอบกลิ่นของ โค กระบือ จึงอยากเสนอให้ทางจังหวัด ช่วยเหลือชาวบ้าน โดยการตั้งกลุ่มเลี้ยงโคกระบือ เพื่อจะได้ขับไล่ช้างออกไปโดยอัตโนมัติ แล้วพี่น้องชาวบ้าน จะได้ทำสวนไร่ทำนา ของตนเองได้ตามปกติ ดีกว่า เอางบมาซื้อชุดสายไฟ มาทำรั่วไฟฟ้า กันช้างแต่ช้างก็มาเหยียบเล่นอีกเหมือนเดิมอย่างที่เคยทำมา