เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 นายธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 หรือ อพท.5 ได้เผยว่า จากกรณี การสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ซึ่งมีแนวคิดตั้งแต่ พ.ศ.2525 โดยความเห็นพ้องจากหน่วยงานของภาครัฐหลายหน่วยงานอาทิเช่น นักวิชาการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และเอกชนจังหวัดเลยในสมัยนั้น โดยได้มีการนำประเด็น เข้าสู่คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ทั้งนี้มีจุดประสงค์หลักๆที่ทำให้เกิดแนวคิด การสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เพื่อต้องการและเอื้อประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว ทำให้ทุกคนสามารถขึ้นไปพิชิตยอดภูกระดึงได้
จากนั้นในสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีนโยบายโครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ขึ้นโดยมอบให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เป็นเจ้าภาพในการดำเนินงานศึกษา เป็นผู้ทบทวนและรวบรวมข้อมูลสรุป เพื่อนำไปสู่การนำเสนอ คณะรัฐมนตรีพิจารณา แต่เรื่องกลับเงียบไป และต่อมาในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ได้มีการสนับสนุนฟื้นโครงการสร้างกระเช้าภูกระดึงขึ้นอีกครั้ง โดยคณะรัฐมนตรีมีมติออกมาพร้อมกับงบประมาณ 20 กว่าล้านบาท ให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เป็นเจ้าภาพในการดำเนินงานศึกษา ความเป็นไปได้ของการสร้าง จนได้ผลสรุปการศึกษาด้านผลกระทบ สิ่งแวดล้อม (EIA) ได้นำเสนอเข้า ครม. เพื่ออนุมัติการสร้าง และคณะ ครม.สมัยยิ่งลักษณ์ได้มีมติรับทราบข้อเสนอของ อพท. และมีมติให้ศึกษาเพิ่มเติม โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมใหม่ จากนั้นเรื่องก็หายเงียบไป
และล่าสุดโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ทาง อพท.ยังคงได้รับการมอบหมายให้ศึกษาต่อกับผลกระทบ การสร้างกระเช้าขึ้นภูกกระดึงอีกครั้ง เนื่องจากประเทศไทยได้มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายใหม่ มีรัฐธรรมนูญใหม่ ในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่า ถ้าจะให้มีการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงให้มีความสมบูรณ์ ต้องมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร อยู่ในกลไกลผลกระทบสิ่งแวดล้อมและให้ทบทวนการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประเทศไทยประกาศใช้ ส่วนงบประมาณที่ อพท.ได้รับมา ซึ่งจะเป็นงบประมาณของการศึกษา โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกันศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
และหลังจากการศึกษาครั้งนี้ ผลการการศึกษาจะได้ส่งมอบให้กับทางรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจะสั่งการอย่างไร ทาง อพท.ก็จะดำเนินตามข้อสั่งการ หรือให้มีการยุติ หรือให้การเดินหน้าต่อไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการศึกษาต้องครอบคลุมรอบด้านว่า เราจะเอากระเช้าไฟฟ้ามาเพื่อการอนุรักษ์ขึ้นภูกระดึงจะทำอย่างไร และจากผลการศึกษาครั้งนี้ ต้องมอบผลการศึกษาให้กับกระทรวงทรัพย์ฯ จากเดิมที่เราติดไม่สามารถเดินต่อไปได้เนื่องจากกฎหมายเปลี่ยน มีขั้นตอนการศึกษาผลกระทบมากขึ้น ตอนนี้เราต้องทำให้ครบตามกฎหมายที่กำหนด ในส่วนการศึกษาสิ่งแวดล้อมเดิมที่ศึกษาไว้ ก็จะเป็นกรอบในการศึกษาครั้งนี้ แต่จะมีเพิ่มการมีส่วนร่วม การแสดงความคิดเห็นของประชาชนต้องเพิ่มมากขึ้น ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เราจะทำเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น และขณะเดียวกันต้องดูวงจรชีวิตของธรรมชาติ สภาพสิ่งแวดล้อมภูกระดึง มีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน จะมีผลกระทบอย่างไรต่อไป