ข่าวบ้านเมือง

หอการค้าเลยดันสุดขั้ว ผลักสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง คาดเม็ดเงินสะพัด 5 พันล้านบาทต่อปี วอนรัฐควรหันมองประเทศเพื่อนบ้านนำหน้าไปไกล

จากกรณีองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยนายธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 ได้งบประมาณ 7.9 ล้าน เพื่อทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 4 รวมทั้งจะเป็นการศึกษาทบทวนความเหมาะสม ปัดฝุ่นจากที่ทำมา 3 ครั้งที่ผ่านมา โดยเพิ่มการศึกษาการก่อสร้างทางวิศวกรรม รูปแบบ พร้อมกำหนดแนวทางในการพัฒนาโครงการของรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้หาข้อสรุปในการดำเนินโครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ในสภาพปัจจุบัน โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ให้น้อยที่สุด หลีกเลี่ยงผลกระทบต่อป่าไม้ สัตว์ป่า และทัศนียภาพ ทำให้กระแสการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงในพื้นที่กลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง

ล่าสุดนายณัฐพล เหลืองวงศ์ไพศาล ประธานหอการค้าจังหวัดเลย ได้นำนายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมกับกลุ่มพ่อค้าในจังหวัดเลย ดูการจัดการกระเช้าลอยฟ้าขึ้นภูเขาฟานซีปัน เมืองซาปา จังหวัดลาวไก ประเทศเวียดนาม ที่มีความสูงกว่า 3,143 เมตร (10,312 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเล ภูเขาฟานซีปันเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศเวียดนาม โดยใช้เวลานั่งกระเช้าไฟฟ้า 15-20 นาที ขึ้นไปยังยอดเขาฟานซีปัน รวมทั้งศึกษาผลกระทบและเศรษฐกิจของเมืองซาปา เพื่อนำมาปรับปรุงและศึกษา หากมีการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง

นายณัฐพล เหลืองวงศ์ไพศาล ประธานหอการค้าจังหวัดเลย เผยว่า หลังจากที่ดูการจัดการรวมทั้งดูผลของกระทบและสภาพพื้นที่ป่า การสร้างกระเช้าลอยฟ้าของเมืองซาปา ซึ่งพื้นที่มีเขาสูงหนาวตลอดทั้งปี พร้อมรับนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้สภาพเศรษฐกิจเมืองซาปามีเงินสะพัดแต่ละปีจำนวนมาก  จากที่เราได้นำพ่อค้าในจังหวัดเลยมาดู ทั้งนี้เพื่อเห็นการเปรียบเทียบกับที่จะสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งดูเรื่องการการกระทบกับสิ่งแวดล้อม จะมีรูปแบบและการจัดการยังไงที่ให้มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รวมทั้งเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจจากที่ได้รับผลกระทบกับโควิด 19 ที่ผ่านมา

หากว่ามีการสร้างกระเช้าขึ้นภูระดึง ให้คนทุกเพศ ทุกวัยทุกเหล่า ไม่ว่าคนแก่คนพิการ สามารถขึ้นไปสัมผัสท่องเที่ยวบนภูกระดึง ได้สัมผัสธรรมชาติที่ไม่เหมือนใคร สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่เฉพาะจังหวัดเลย แต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคอีสาน เม็ดเงินจะสะพัดไม่น้อยกว่า 1,000 พันล้านต่อปีอย่างแน่นอน เรามีของดีอย่างภูกระดึง ซึ่งจะสร้างเป็นจุดขาย ถ้ามองเรื่องการจัดการอนุรักษ์ธรรมชาติ ในยุคนี้สามารถบริหาร การจัดการเรื่องเหล่านี้ได้ไม่ยาก การก่อสร้างด้านวิศวกรรมสมัยใหม่ ให้มีผลการกับธรรมชาติน้อยที่สุดอยู่แล้ว ถ้าเรามีกระเช้าขึ้นภูกระดึงสามารถบริหารจัดการขึ้นลงภายในวันเดียวได้ และจำกัดคนเข้าพักบนภูกระดึงได้ ขึ้นเช้าลงเย็น คนที่ลงมาก็จะมาพักด้านล่างภูกระดึง และทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งตรงนี้จะเกิดก่อการหมุนเวียนเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบริเวณรอบๆภูกระดึง อย่างคน 1 คน มาเที่ยวเชื่อว่าการใช้จ่ายคนละ 5,000 บาท หากมา 1 ล้านคนต่อปี อ.ภูกระดึงจะมีเงินสะพัดไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี

และจากที่เราได้ขึ้นกระเช้าลอยฟ้าขึ้นภูเขาฟานซีปัน ที่เราสังเกตใต้กระเช้ายังมีความอุดมสมบูรณ์เป็นป่าเขียวขจี แม่น้ำลำธารไหล เห็นความสมบูรณ์ของป่าไม้ ยังไม่เห็นผลกระทบของการก่อสร้างกระเช้าขึ้นแต่อย่างใด ภูเขาฟานซีปัน มีความสูงถึง 3,143 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล แต่ภูกระดึงมีความสูง 1,316 เมตรเท่านั้น ภูเขาฟานซีปัน ธรรมชาติป่าเขายังมีความอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่า ยังอยู่ปกติ แม้แต่ละวันนักท่องเที่ยวมาจำนวนมาก  จึงอยากจะให้ภาครัฐได้กระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจที่มีผลกระทบของคนในจังหวัดเลย รวมทั้งคนในภาคอีสาน ช่วยผลักดันโครงการกระเช้าขึ้นภูกระดึง ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมเสียที จนเพื่อนบ้านเขาทำกอบโกยนักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยว และสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศแต่ละปีในจำนวนไม่น้อย

ด้านนายเกรียงศักดิ์ ตันกิจเจริญ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเลย กล่าวว่า จังหวัดเลยได้พลาดโอกาสการสร้างและกระตุ้นทางเศรษฐกิจมาหลายโครงการ ที่ส่งเสริมของการท่องเที่ยว อย่างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ตนรวมทั้งหอการค้าทุกยุคทุกสมัย ผลักดันมากว่า 30 กว่าปี เสียโอกาสไปมาก กระเช้าขึ้นภูกระดึงเป็นโครงการที่ผลักดันกันมาอย่างยาวนาน แต่ทุกครั้งที่ใครหยิบยกขึ้นมาเปรียบเหมือนของร้อนที่กำลังจะลวกมือ วันนี้เพื่อนบ้านต่างสร้างกระเช้าเพื่อปลุกการท่องเที่ยวประเทศของเขา

อย่างประเทศเวียดนามสร้างไปแล้ว 3 แห่ง ผลกระทบกับธรรมชาติแทบไม่มี แต่ละแห่งยังคงสภาพป่าเหมือนเดิม หรืออุดมสมบูรณ์กว่าเดิม ต้องยอมรับการท่องเที่ยวประเทศเวียดนามเขาจะนำหน้าประเทศไทยเราไปแล้ว ดูอย่างท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งเอเชีย ช่วงโควิด 19 แต่ละประเทศมีการชะลอตัว แต่มาดูประเทศเวียดนาม กลับสามารถฝ่าฟันวิกฤติได้อย่างแข็งแกร่ง GDP กับเป็นบวกมาตลอด รายได้ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการท่องเที่ยว จากเคยเป็นประเทศยากจนที่สุดกลับมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในโลกก็ว่าได้

หากรัฐยังไม่สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ขึ้น การท่องเที่ยวมีแต่จะถอยลงนักท่องเที่ยวหดหายไป อย่างที่มาดู เมืองซาปา เวียดนาม เขายังให้ชุมชนเล็กๆหมู่บ้านชาวเขากั๊ตกั๊ต ชาวเขาเผ่าม้งดำ ชมวิถีความเป็นอยู่ ดูแปลงนาแบบขั้นบันได จากนั้นขึ้นกระเช้าลอยฟ้า แล้วกลับมาพักที่เมืองซาปา ซึ่งมีเศรษฐกิจนักท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก เต็มหมดแม้ช่วงฤดูฝนก็ตาม นักท่องเที่ยวทั่วโลก ชาวบ้านขายของที่ระลึก ของฝาก รายได้สะพัด หากรัฐยังอ้ำๆ อึ้งๆไม่กล้าตัดสินอะไร ครั้งนี้รัฐให้มีการศึกษา EIA เพิ่มเป็นครั้งที่ 4 ไม่รู้จะมีอีกมั้ย ยอมรับหากสร้างเมื่อ 30 ปี ทรัพยากรคงเสียหายไปบ้าง แต่หากยุคปัจจุบันการก่อสร้าง เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยขึ้น ด้านวิศวกรรมก็ดีกว่าเดิม หากมีการสร้างผลกระทบกับธรรมชาติที่จะเสียหายคงมีน้อยนิด แต่แน่ๆคงน้อยกว่าการตัดไม้ทำลายป่า รุกพื้นที่ปลูกข้าวโพด ขิง ในปัจจุบัน หากรัฐให้สร้างรายได้เข้าชุมชนอย่างมหาศาล นายเกรียงศักดิ์ ตันกิจเจริญ กล่าว

แสดงความคิดเห็น - Facebook