เมื่อวันที่ 14 เมษายน 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ วัดศรีโพธิ์ชัย ตําบลแสงภา อําเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ได้จัดงานแห่ต้นดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นงานประเพณีเก่าแก่ของท้องถิ่น ที่สืบทอดกันมายาวนานกว่า 472 ปี โดยมีนายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานในการเปิดงาน โดยมีศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายกิตติคุณ บุตรคุณ ปลัดจังหวัดเลย นายจักรภัทร พรมคล้าย ปลัดอำเภอ รักษาราชการแทน นายอำเภอนาแห้ว นายจริยาทร สูหู่ ผอ.ททท.สำนักงานเลย พร้อมกับหัวหน้าส่วนราชการอำเภอนาแห้ว องค์กรปกครองท้องถิ่น อบต.แสงภา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน ต.แสงภา และนักท่องเที่ยวทั้งคนไทย และต่างประเทศ ร่วมงานอย่างคับคั่ง
นายจักรภัทร พรมคล้าย เผยว่า ประเพณีการแห่ต้นดอกไม้ ตำบลแสงพา เริ่มมาจากความศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาของชาวบ้านแสงภา ที่ยังคงสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง จากรุ่นสู่รุ่น จนได้กลายเป็นประเพณีแห่ต้นดอกไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก การแห่ต้นดอกไม้เริ่มแรกตั้งแต่การก่อสร้างวัดศรีโพธิ์ชัย ที่มีอายุมากว่า 472 ปี ซึ่งมีความเชื่อการแห่ต้นดอกไม้ ถือว่าเป็นศิริมงคลของชีวิต ที่ได้นำดอกไม้มาบูชาพระรัตนตรัย ทำให้ชีวิตอยู่ดีมีสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล
ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ มีความเชื่อว่า การทำต้นดอกไม้มาเป็นพุทธบูชาในวันสงกรานต์ ที่ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่นั้น จะถือว่าเป็นมงคลกับชีวิตอย่างยิ่ง ต้นดอกไม้ของตำบลแสงภา จะมีลักษณะเด่นกว่าทุกวัด คือมีขนาดใหญ่และสูง มีความกว้าง 3.50 เมตร สูง 15-16 เมตร และในปีนี้หลังจากการระบาดของเชื้อโควิด 19ได้ผ่อนคลาย จึงได้จัดทำต้นดอกไม้ให้ใหญ่ขึ้นมีความสูงถึง 17 เมตร ใช้คนแบกถึง 18 คน มีมากถึง 15 ต้น ส่วนการทำต้นดอกไม้ จะต้องให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว เริ่มจากตอนเช้ามืด ชาวบ้านที่เป็นผู้ชายจะร่วมกันไปตัดไม้ไผ่ที่มีอยู่ตามหัวไร่ปลายนา หรือบนภูเขา และนำกลับมาในหมู่บ้าน นำมาตัดมาผูกเป็นโครง อุปกรณ์ที่ใช้ยึดจะมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่มีการใช้ลวด หรือสิ่งอื่นใดที่ไม่ใช่ธรรมชาติ
ส่วนผู้หญิงไปเก็บดอกไม้มาเพื่อตกแต่งต้นดอกไม้ ให้มีสีสันสวยงาม การเก็บดอกไม้ที่มีตามฤดูกาล รอบๆ บริเวณหมู่บ้านหรือชุมชน แต่จะต้องเป็นดอกไม้สดเท่านั้น จะไม่นิยมนำดอกไม้เทียมหรือดอกไม้ประดิษฐ์ มาประดับทำต้นดอกไม้ เมื่อต้นดอกไม้เสร็จแล้ว ชาวบ้านจะช่วยกันนำต้นดอกไม้ไปรวมกันที่วัด เพื่อรอเวลาแห่ในช่วงค่ำ ชาวบ้านแต่ละคุ้มตั้งขบวนแห่แห่ต้นดอกไม้ไป พร้อมกับเสียงดนตรีขับกล่อมขบวนฟ้อนรำ ประเพณีแห่ต้นดอกไม้จะเต็มไปด้วยความสนุกสนานของชาวบ้าน ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ และความสวยงามของแสงเทียนที่ประดับอยู่ในต้นดอกไม้ โดยจะมีต้นดอกไม้สำหรับเด็กเล็ก เด็กโต วัยรุ่น จนไปถึงผู้ใหญ่เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมการแห่ต้นดอกไม้ของชาวหมู่บ้านให้คงอยู่สืบไป