วันที่ 16 เมษายน 2566 เวลา 04.00 น.ที่พระธาตุศรีสองรัก อ.ด่านซ้าย จ.เลย ได้มีพิธีสืบสานประเพณีเก่าแก่ “แห่ข้าวพันก้อน” ถวายพระธาตุศรีสองรัก ตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสาน คือ “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติพันธุ์ลาว ซึ่งชาวอีสานที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ตาม “ฮีตสิบสอง” ของบุญเดือน 4 หรือ ประเพณีบุญพะเหวด (พระเวส) จะมีจัดหาเครื่องกิริยาบูชาผะเหวดให้ครบ เรียกว่า เครื่องฮ้อยเครื่องพัน (เครื่องร้อยเครื่องพัน) หรือเครื่องคุรุพัน หนึ่งในเครื่องกิริยาที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ข้าวพันก้อน โดย นายถาวร เชื้อบุญมี หรือเจ้าพ่อกวน ผู้นำจิตวิญญาณ เป็นผู้นำประกอบพิธี
นายจริยาทร สูหู่ ผอ.ททท.สำนักงานเลย เผยว่า เป็นวันสำคัญของอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย คือ”งานแห่ข้าวพันก้อน” พุทธศักราช 2566 (หลังจากวันสงกรานต์หนึ่งวัน) ททท.สำนักงานเลย ได้รับพลังร่วมแรงร่วมใจจากพันธมิตรในพื้นที่ นำเสนอเรื่องราวประเพณีของมนต์เสน่ห์ดั้งเดิมผ่าน “ตะเกียงไม้ไผ่ฉลุลายเป็นรูปองค์พระธาตุศรีสองรัก” และ “แสงตะเกียงน้ำมันก๊าซ” เปล่งประกายของแสงสว่างช่วยนำทางตลอดเส้นทางเดินไปสู่องค์พระธาตุ “จากสิบสู่พันก้อน มนต์เสน่ห์แห่งความศรัทธา “แห่ข้าวพันก้อน” ถวายพระธาตุศรีสองรัก ประเพณีเก่าแก่ของด่านซ้ายที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์”
อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยมีประเพณีเก่าแก่ที่งดงาม คือ “งานแห่ข้าวพันก้อน” พิเศษและแตกต่างจากที่อื่น ตรงที่เป็นประเพณีการนำข้าวที่ปั้นเป็นก้อนกลมขนาดพอดีคำ ไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระธาตุศรีสองรัก หากโดยประเพณีที่อื่นนั่น เป็นการถวายข้าวพันก้อนเพื่อเป็นพุทธบูชาตามวัดต่างๆ และถือเป็นงานเดียวที่ปกติจะมีกิจกรรมแห่บุญพระเหวด (พระเวส) ในเดือน 4 แต่งานบุญพระเหวดของที่นี่นั้นจะมีขึ้นในงานประเพณีบุญหลวงและละเล่นผีตาโขนแทน เพราะโดยปกติแล้วงานแห่ข้าวพันก้อน เป็นส่วนหนึ่งของบุญพระเหวด ทุกคนต่างพร้อมใจแต่งกายด้วยชุดสีขาวหรือชุดสุภาพ ยกเว้นสีแดง
พร้อมขันข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อน ธูปเทียนดอกไม้สักการะบูชาองค์พระธาตุ เดินเท้าเริ่มต้นขบวนจากบ้านเจ้าพ่อกวน มาทางบ้านเจ้าแม่นางเทียม ตามเส้นทางเดิมไปสู่ทางเข้าด้านหน้าองค์พระธาตุศรีสองรัก โดยใช้เส้นทางโบราณ เริ่มต้นจากบ้านเจ้าพ่อกวน-สี่แยกบ้านเดิ่น-วัดโพนชัย-เลี้ยวขวายามาฮ่าสาขาด่านซ้าย-บ้านเจ้าแม่นางเทียม-สี่แยกต้นโพธิ์บ้านเหนือ-ถนนแยกเข้าสู่เส้นทางโบราณ และมุ่งหน้าสู่พระธาตุศรีสองรักทางด้านทิศตะวันตก
ตั้งแต่เวลา 04.00-06.00 น. ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เมื่อมาถึงองค์พระธาตุ จะได้ทำพิธีสวดเจริญพระพุทธมนต์ ชาวบ้านต่างนำข้าวเหนียวที่ปั้นเป็นก้อนขนาดเล็ก จาก 10 เป็น 100 จนมาเป็น 1,000 ผู้ชายถวายด้านในองค์พระธาตุ ส่วนผู้หญิงวางรอบๆ กำแพงแก้วขององค์พระธาตุ ซึ่งเป็นที่มาของประเพณีนี้ว่า “ข้าวพันก้อน” เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีอันงดงามอันยาวนานถวายแด่องค์พระธาตุศรีสองรัก และสร้างความรักความสามัคคีของชุมชน โดยใช้กิจกรรมทางประเพณีวัฒนธรรมเป็นสื่อกลาง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา รับพลังแก่ชีวิตและจิตใจ ให้มีความสุขแก่ชีวิตตลอดไป