เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านพองหนีบ ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย นายธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 (อพท.5)ได้ร่วมกับ นายธเนศ หาญถนอม ประธานหอการค้าจังหวัดเลย นายจริยาทร สูหู่ ผอ.ททท.สำนักงานเลย นส.จุฑามาศ กุลรัตน์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเลย นายเกรียงฤทธิ์ ผิวเหลือง รองนายก อบจ.เลย นายจุลกร เมืองแก้ว ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เตรียมข้อมูลเดินหน้าโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง โดยมีนายณรงค์ จีนอ่ำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธาน เพื่อนำเสนอกับรัฐบาลเศรษฐา ในการประชุม ครม.สัญจร ในเดือนพฤศจิกายน 2566
นายธเนศ หาญถนอม ประธานหอการค้าจังหวัดเลย เผยว่า ในช่วงสมัยของท่านทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงปี 2549 ได้มาประชุม ครม.สัญจร ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย โดยในสมัยนั้นหอการค้าจังหวัดเลย ร่วมกับภาคเอกชน เสนอให้มีการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงขึ้น และต่อมาทางรัฐบาลทักษิณ ให้ อพท.5 เป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้ จากนั้นจนผ่านรัฐบาลมาหลายๆสมัย และทุกครั้งเมื่อได้รัฐบาลใหม่ก็มักจับเรื่องการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ขึ้นมาทบทวนการสร้างขึ้นมาอีกครั้ง แต่เรื่องก็หายเงียบไป
และในสมัยนี้ก็เช่นกัน หลังจากที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดรัฐบาลโดยมีท่านเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และได้ประกาศว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 จะมีการประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดหนองบัวลำภู ทางจังหวัดเลย หน่วยงานท่องเที่ยว อพท. 5 และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย อบจ.เลย รวมทั้งหอการค้า จึงประชุมโดย อพท. 5 ได้รวบรวมข้อมูลการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง เพื่อที่จะนำเสนอกับรัฐบาล ในการประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดหนองบัวลำภู โดยหอการค้าจังหวัดเลย จะขอเป็นผู้เสนอให้กับ ครม.รับทบทวนให้มีการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงอีกครั้ง ถือว่าครั้งนี้เป็นโอกาสและมีความหวังอีกครั้ง ครั้นเมื่อในช่วงหาเสียงที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้มาหาเสียงที่จังหวัดเลย ทั้งแกนนำ มีคุณหมอชลน่าน อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ก็ได้รับปากคนจังหวัดเลย หากพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำรัฐบาล จะต่อยอดนโยบายท่านทักษิณ จะพลักดันสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงอย่างแน่นอน
ด้านธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 เผยอีกว่า ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง อพท.5 ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และคุณค่าความเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ให้น้อยที่สุด หลีกเลี่ยงผลกระทบต่อป่าไม้ สัตว์ป่า และทัศนียภาพ ให้มีน้อยที่สุด กระเช้าไฟฟ้าจะเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง มีการออกแบบใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน เสริมสร้างการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และจะมีการจัดทำแผนการบริหารจัดการการท่องเที่ยว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ นำไปสู่การลดจำนวนการค้างแรมในพื้นที่ยอดภูกระดึง ให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับ ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีการใช้จัดการการท่องเที่ยว ในพื้นที่ธรรมชาติหลายแห่งในระดับสากล ธรรมนูญ ภาคธูป กล่าว