เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเลย สาขาด่านซ้าย กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดเลย กว่าจำนวนกว่า 50 คน นำโดยนายทศพล พรมเกตุ นายจีระศักดิ์ น้อยก่ำ นายยลชาญ กมลรัตน์ ได้เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านบริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด ที่ได้ยื่นเรื่องขอสัมปทานใช้ที่ดินตามความในมาตรา 12 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ในพื้นที่ของตระกูลกรรณสูต ในแปลงที่เคยทำผลประโยชน์ในที่ดินเดิมกว่า 6 พันกว่าไร่ หลังถูกรัฐยึดคืน ที่มีทั้งโรงแรม รีสอร์ต และไร่ต้นแมคคาเดเมีย โดยมีพ.อ.สมหมาย บุษบา รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.เลย (กอ.รมน.เลย) พร้อมด้วยนายธวัชชัย ลัดกรูด ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี) นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ
นายทศพล พรมเกตุ กล่าวว่า ตนเป็นแกนนำกลุ่มรักษ์เมืองเลย ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ได้ติดตาม ตรวจสอบ และเปิดประเด็น การบุกรุก ครอบครอง ที่ดิน ป่าไม้ แปลงดังกล่าว ของ บริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด ต่อสาธารณชนมาตั้งแต่ปี 2535 จวบจนกระทั่งมีการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดิน นส.3ก จํานวน 147 แปลง และในขณะนี้ตนได้ทราบว่า บริเวณ บ้านร่องจิก หมู่ที่ 2 , บ้านขามป้อม หมู่ที่ 4 ตําบลร่องจิก อําเภอภูเรือ จังหวัดเลย และบ้านหนองสนุ่น หมู่ที่ 7 ตําบลโคกงาม, บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 2 ตําบลโพนสูง อําเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นที่ดินของรัฐประเภท ภูเขา (ภูหมี,ภูขึ้นาค) รวมเนื้อที่ 6,543 ไร่ และซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของรังเย็น รีสอร์ท และ ภูเรือวโนทยานของ บริษัท ซี พี เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทในเครือของ ตระกูลกรรณสูต โดยกรมป่าไม้และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ตรวจยึดเนื่องจากออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ เมื่อปี 2561 มาแล้วนั้น ได้มีตัวแทนของบริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด โดยนายสงวน ชินระนาท ผู้รับมอบอํานาจ ที่ได้ยื่นเรื่องขอสัมปทานตามความในมาตรา 12 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ตนและพรรคพวกจึงได้ยืนหนังสือคัดค้านการใช้ที่ดินดังกล่าว
ด้านพ.อ.สมหมายกล่าวว่า ต้องตรวจสอบว่า เหตุใดผู้ครอบครองที่ดินเดิมจึงกลับมายื่นขอสัมปทานได้ ทั้งๆที่คดียังอยู่ในชั้นการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีความไม่ชอบมาพากลของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางหน่วยงาน ที่พยามช่วยเหลือนายทุน ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ภูเขาบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่กว่า 20,000 ไร่ เหตุใดจึงไม่ประกาศเป็นป่าสงวนตั้งแต่แรก ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเห็นว่ามีการครอบครอง ทำประโยชน์เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น จึงถามว่า นายทุนอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ในฐานะอะไร หากการยื่นคัดค้านครั้งนี้เป็นผลสำเร็จ อยากให้มีการจัดสรรที่ดินให้ประชาชนผู้ยากไร้ อาจจะจัดตั้งในรูปแบบของสหกรณ์เข้ามาทำกินกับพืชผลการเกษตรในพื้นที่นี้ได้ ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ด้วย
ด้านนายธวัชชัย ลัดกรูด ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี) ขณะนี้พื้นที่ภูหมีภูขี้นาค มีฐานะเป็นป่าของรัฐตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 หลังจากที่ทำการตรวจยึด เพิกถอนเอกสารสิทธิ์แล้วเมื่อปี 2561 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการสอบสวนโดยดีเอสไอ ซึ่งกรมป่าไม้ได้ยื่นฟ้องแพ่ง เรียกค่าเสียหายประมาณ 130 ล้านบาทด้วย หากใครจะเข้ามาทำกิจการหรือทำประโยชน์ใดๆ ต้องขออนุญาตพนักงานสอบสวน แม้แต่กรมป่าไม้เองก็ต้องขออนุญาตด้วย เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด พื้นที่แห่งนี้ เมื่อคำพิพากษาถึงที่สุด ให้พื้นที่ตรงนี้ตกเป็นของแผ่นดิน กรมป่าไม้ก็จะเข้ามาจัดการได้ และจะมอบให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามาจัดตั้งเป็นป่าชุมชนทันที ตามที่อธิบดีกรมป่าไม้ได้สั่งการ
ด้านนายธานินทร์ ละโรงสูงเนิน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเลย สาขาด่านซ้าย จะนำข้อคัดค้านของประชาชนไปพิจารณาประกอบการตรวจสอบที่ดินไปเสนอทางจังหวัดตามขั้นตอนของกฏหมาย หากประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย ก็คงไม่ฝืนความรู้สึก ส่วนกรณีที่ดินแปลงนี้ยังอยู่ในกระบวนสอบสวนและฟ้องร้องดำเนินคดีอยู่นั้น ก็จะนำเสนอเป็นข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาของทางจังหวัดด้วย ซึ่งการยื่นสัมปทานครั้งนี้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่สามารถปฏิเสธได้