เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลาประชาคมจังหวัดเลย ตามที่นายดำรงค์ ทองศรี ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย (ผอ.กต.อบจ.เลย) ได้จัดให้มีการรับสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย (ส.อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย (นายก อบจ.เลย) ได้ปิดการับสมัคร โดยสรุปได้มีผู้สมัคร นายก อบจ.ทั้งหมด 6 ราย มี (1.) นายชวลิตย์ น้อยดี ได้เบอร์ 1 (2.) นายเกรียงฤทธิ์ ผิวเหลือง ได้เบอร์ 2 (3.) นายชลละวิชช์ ฤทธิศักดิ์ชลเดช ได้เบอร์ 3 (4.)นายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ ได้เบอร์ 4 (5.) นายจีระศักดิ์ น้อยก่ำ ได้เบอร์ 5 (6.) นายสุชาติ ลีกระจ่าง ได้เบอร์ 6
และมีผู้สมัคร ส.อบจ.ทั้งหมดมี 136 ราย ส่วน กกต.จังหวัดเลย ให้ผู้สมัครรออีก 7 วัน หลังปิดการสมัคร รอ ผอ.กต.อบจ.เลย ประกาศคุณสมบัติมีผู้มีสิทธิรับสมัครการเลือกตั้ง
ส่วนทางด้านนายกวี ไพศาลศรี ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเลย เผยว่า หลังจากการรับสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย (ส.อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย (นายก อบจ.เลย) ได้จบลง ขั้นตอนต่อไปโดยปลัด อบจ.ซึ่งมีฐานะเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย (ผอ.กต.อบจ.เลย) จะต้องตรวจคุณสมบัติผู้มาสมัครทั้งหมด ภายใน 7 วัน หลังการปิดการรับสมัคร ซึ่งจะมีหลายหน่วยงานที่เข้าร่วมตรวจสอบ เช่น ศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี ในเรื่องของผู้รับสมัครเมื่อสมัครเสร็จแล้ว จะต้องรอหลังอีก 7 วันที่ปิดการรับสมัคร
ซึ่งถ้าทางผอ.กต.อบจ.เลย ที่รับสมัครประกาศว่าผู้มาสมัครขาดคุณสมบัติ แต่ผู้รับสมัครเองก็มีสิทธิสามารถร้องในเรื่องที่ขาดคุณสมบัติมาได้ที่ กกต.จังหวัด ซึ่ง กกต.ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาสิทธิไว้แล้ว และจะส่งผลการวินิจฉัยเบื้องต้นไป กตต.กลาง วินิจฉัยออกมายังไงทาง กกต.จังหวัดจะเป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครให้ทราบ แต่ถ้าผลการวินิจฉัยไม่พอใจทางผู้สมัครหรือผู้ร้อง ยังสามารถร้องไปที่ศาลอุทธรณ์ภาคได้อีก
ในส่วนของการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ บุคคลที่มีความสำคัญอย่างมาก คือ กกต.ท้องถิ่น ซึ่งทางจังหวัดเลย ได้นายโสภณ สุวรรณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธาน ส่วนรองประธานมี นายณรงค์ จีนอ่ำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พ.ต.อ.ยุทธวัฒน์ โชคชัย รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย และหัวหน้าสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดเลย ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะทำหน้าที่ในเรื่องของการจัดการเลือกตั้งทั้งหมดภายในจังหวัด รวมทั้งการหาเสียง การติดประกาศป้าย และกำหนดสถานที่ให้ติดป้าย ขนาดป้าย
โดยทั้งหมดทาง กกต.ท้องถิ่นจะเป็นผู้กำหนด ซึ่งหลังจากนี้ไปผู้สมัครหลังผ่านการตรวจคุณสมบัติผ่าน ต้องรอฟังคำสั่งระเบียบต่างๆของ กกต.ท้องถิ่นที่จะออกข้อกำหนดระเบียบ ในเรื่องของการหาเสียงครั้งนี้ ทั้งเรื่องการหาเสียงในโซเซียลมีเดีย การตั้งเวทีหาเสียง จะต้องแจ้งก่อนกับฝ่ายสืบสวนของ กกต.ก่อนที่จะดำเนินการ