ข่าวทั่วไป

เลยระดมแนวคิดพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 67 ห้องชัยพฤกษ์ โรงแรมเลยพาเลซ อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย นายอนุพงศ์ คำภูแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธาน เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 1 งานออกแบบรายละเอียดโครงการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ระยะที่ 2 โดยมีหน่วยงานข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น และผู้แทนภาคประชาชน ร่วมการประชุมทั้งนี้เพื่อร่วมกันแสดงข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะ ให้งานพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดได้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง

นายจิรศักดิ์ ภูวิไลวัฒนกิจ สถาปนิกชำนาญการพิเศษ เผยว่า เนื่องมาจากกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วย จังหวัดเลย อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีศักยภาพในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา และที่ราบ สูง มีแม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำเลย และแม่น้ำโขง มีที่ตั้งและการคมนาคมอันโดดเด่น ที่สามารถเป็นประตูสู่อาเซียนเชื่อมต่อไปยังประเทศลาว และประเทศเวียดนาม มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก และแหล่งท่องเที่ยวที่มีทัศนียภาพที่งดงาม ทั้งทางด้านธรรมชาติ วัฒนธรรม และประเพณี สามารถเดินทางเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างสะดวกสบายทั้งทางรถยนต์ รถไฟและเครื่องบิน

รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 จึงได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ศึกษาความเหมาะสม และออกแบบรายละเอียดโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่ ปลอดภัย เป็นระเบียบเรียบร้อย และเพื่อส่งเสริมให้พื้นที่ที่มีศักยภาพในกลุ่มจังหวัด สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ประเพณี และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน อันจะสามารถสร้างรายได้ให้กับ ชุมชน ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง และยั่งยืน

เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปตามเป้าหมายและบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ กรมโยธาธิการและผังเมือง จึงได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 1เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการ และชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แผนการดำเนินงาน และผลการ คัดเลือกโครงการที่มีความจำเป็นในการพัฒนาระยะเร่งด่วนและระยะกลาง เพื่อที่จะนำไปออกแบบรายละเอียดในขั้นตอนต่อไป พร้อมเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สื่อมวลชน และผู้แทนภาคประชาชน ร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความเหมาะสม สามารถนำไปปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับความต้องการของ ท้องถิ่นต่อไป

แสดงความคิดเห็น - Facebook